ไปเที่ยวหนองคายค่ะ

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก



อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ตั้งอยู่ที่บ้านท่าวัด ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร มีเนื้อที่ประมาณ 252,898 ไร่ หรือประมาณ 404 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอส่องดาว อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอกุดบากอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภอสมเด็จ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงพันนา ป่าดงพระเจ้า ป่าภูวง ป่ากุดไห ป่านาใน ป่าโนนอุดม ป่าบะยาว ป่าหัวนาคำ ป่าหนองหญ้าไชย และป่าแก้งกะอาม




ในปี 2538 กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ออกมาสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1162/2539 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2539 เรื่องให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการได้ให้นายพนม พงษ์สุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 7 ว. ส่วนอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมและจัดตั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วนของพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงพันนา ป่าดงพระเจ้า ท้องที่อำเภอส่องดาว ป่าภูวง ท้องที่อำเภอวาริชภูมิ อำเภอนิคมน้ำอูน อำเภอกุดบาก ป่าแก่งแคน ท้องที่อำเภอกุดบาก ป่าหนองหญ้าไซ ท้องที่อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดธานี ผนวกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูพาน ท้องที่อำเภอคำม่วง อำเภอสมเด็จ ป่าแก้งกะอาม ท้องที่อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นั้น
นายพนม พงษ์สุวรรณ ไปสำรวจหาข้อมูลและประวัติดั้งเดิมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดังกล่าวข้างต้นพร้อมกับหาข้อมูลเพิ่มเติมจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ศูนย์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ป่ารักน้ำ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย อันเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรม ราชินีนาถ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2525 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2537 นายผ่อง เล่งอี้ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้มาตรวจราชการและเห็นความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว จึงมีบัญชาให้สำรวจเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก-ภูผาหัก ต่อมาในปีพ.ศ. 2539 ได้อนุมัติให้ตัดคำว่า ภูผาหัก ออกใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก” เป็นต้นมา




จากการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อจัดตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก ได้พื้นที่ รวมประมาณ 404 ตารางกิโลเมตร หรือ 252,898 ไร่ มีรายละเอียดดังนี้
จังหวัดสกลนคร ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงพันนา ป่าดงพระเจ้า ท้องที่ตำบลท่าศิลา ตำบลปทุมวาปี ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว พื้นที่ 37,250 ไร่ ผนวกป่าสงวนแห่งชาติป่าภูวง ท้องที่ตำบลคำบ่อ ตำบลวาริชภูมิ ตำบลค้อเขียว อำเภอวาริภูมิ พื้นที่ 67,600 ไร่ ผนวกป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุดไห ป่านาไน ป่าโนนอุดม ท้องที่ตำบลนิคมน้ำอูน ตำบลสุวรรณคาม อำเภอนิคมน้ำอูน และตำบลกุดไห อำเภอกุดบาก พื้นที่ 22,575 ไร่ ผนวก ป่าสงวนแห่งชาติป่าแก่งแคน ท้องที่ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบากตำบลโคกภู อำเภอภูพาน พื้นที่ 32,325 ไร่ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 159,750 ไร่ หรือประมาณ 255.6 ตารางกิโลเมตร
จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบะยาว ป่าหัวนาคำ ป่านายูง ป่าหนองกุงทับม้า ป่าหนองหญ้าไซ ท้องที่ตำบลผาสุข อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี พื้นที่รวม 10,315 ไร่ (16.5 ตารางกิโลเมตร)
จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูพาน ท้องที่ตำบลนาทัน ตำบลดิบจี่ อำเภอคำม่วง พื้นที่ 86,185 ไร่ ผนวกป่าสงวนแห่งชาติป่าแก้งกะอาม ท้องที่ตำบลนาบอน ตำบลแซงบาดาล อำเภอสมเด็จ พื้นที่ 5,625 ไร่ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 91,810 ไร่ (146.9 ตารางกิโลเมตร)

วัดถ้ำสุมณฑาภาวนา (วัดผาสุการาม)

 

ประวัติวัดถ้ำสุมณฑาภาวนา

ประวัติวัดถ้ำสุมณฑาภาวนา

ถ้ำพระนางสุมณฑา ภูผาหัก ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ    ป่าบะยาว ตั้งอยู่ทาง ทิศตะวันตกของหมู่บ้านผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี อันเป็นรอยต่อพื้นที่ ๓ จังหวัด จ.สกลนคร จ.อุดรธานี และจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งมีถ้ำและดินแดน อันศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาล ยังมีถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์และลึกลับอีกถ้ำหนึ่ง อยู่บริเวณภูผาหักแห่งนี้ อันเป็นถ้ำและสถานที่เมืองของคนบังบดลับแล คนโบราณเรียกว่า “ถ้ำเม็ง” (ถ้ำเกวียนหัก) มีเรื่องเล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัย ปู่ย่า ตายาย ว่าพระยาขอมองค์หนึ่งในยุคสมัยเจลละ ได้นำทรัพย์สิน  เงินทองของมีค่า มาซุกซ่อนไว้เพื่อหลบภัยในการรุกไล่ของการทำศึกกับคนต่างเผ่าพันธุ์ พอบรรทุกเงินทองของมีค่ามาถึงหน้าผาด้านทิศใต้ของภูผาหัก เกวียนเลยชำรุดหักไม่สามารถที่จะบรรทุกเงินทองข้าวของของมีค่าอีกต่อไปได้ จึงนำสมบัติเหล่านั้นเข้าไปเก็บซุกซ่อนไว้ในถ้ำตรงหน้าผาที่เกวียนหัก พวกคนสมัยโบราณ และพรานป่า ตลอดทั้งพระธุดงค์ท่านเคยเข้าไปในถ้ำดังกล่าว

ภาพที่ ๑ วัดถ้ำสุมณฑาภาวนา

ได้ไปเห็นของมีค่าเหล่านั้น แต่พอกลับออกมา วันหลังนึกเกิดความโลภอยากได้ขึ้นมา จึงพากันหวนกลับมาที่เดิม (ถ้ำ) แต่ก็หลงทิศทางจำทางเข้าถ้ำและหน้าผาไม่ได้ จึงได้แต่พากันค้นแสวงหาเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน เพราะในถ้ำแห่งนี้บางครั้ง เช่น วันพระจะมีเสียงคุยกันและเสียงหัวเราะ ภาษาพูดสำเนียงครึ่งมนุษย์ครึ่งเทพ ฟังได้ชัดถ้อยชัดคำ และจะมีแสงเปล่งประกายออกมาในเวลากลางคืน พร้อมด้วยเสียงฆ้อง เสียงกลอง เสียงพิณ และเสียงแคนเป่ามาให้ได้ยินเป็นบางโอกาสถ้ำสุมณฑาจึงเป็นถ้ำที่เขียนไว้ในวรรณกรรมอีสานล้านช้างระบุไว้ว่าพญากุมภัณฑ์ยักษ์ผู้มีฤทธิ์เดช สามารถเสกมนต์คาถา แปลงร่างและเหาะเหินเดินอากาศได้ พญากุมภกัณฑ์ยักษ์ได้ออกไปหาอาหารอยู่บนเทือกเขาแห่งหนึ่งบริเวณเทือกเขาภูพาน ชำเลืองตามองเห็นพระนางสุมณฑา ซึ่งเป็นพระธิดาของพระยาขอม ผู้ครองเมือง “เปงจานนครราช”

ภาพที่ ๒ ศาลพระนางสุมณฑา

พระนางสุมณฑาเป็นธิดาองค์เดียวเสด็จประพาสป่า ร้อนพระทัยไม่เป็นอันอยู่ในพระตำหนัก ตกดวงชะตาไม่ดี ถูกพระเคราะห์เสวยอายุ จึงได้อำลาพระยาขอมผู้เป็นบิดาออกมาเที่ยวประพาสป่าเพื่อให้สบายจิตใจขึ้น พร้อมด้วยบริวารที่เป็นสนมกำนัลติดตามเดินทางเข้าป่าเขา จนรู้สึกเมื่อยล้า จึงได้บรรทมพักผ่อนกลางวันบนป่าเขา พอดีพญายักษ์ออกไปหาอาหารได้พบเข้า จึงนึกในใจว่าต้องจับมนุษย์พวกนี้มาเป็นอาหาร แต่พอเข้าไปใกล้ชิดได้มองเห็นพระนางสุมณฑาเป็นผู้หญิงที่เลอโฉมสวยงาม ผิวพรรณประดุจนางฟ้าจึงมีจิตปฏิพัทธ์ยินดีจึงเปลี่ยนใจเสกมนต์คาถาให้นางสนมกำนัลนอนหลับ แล้วย่องเข้าไปอุ้มเอาพระนางสุมณฑา พามาหลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำภูผาหักแห่งนี้ พอพระนางสุมณฑารู้สึกตัวตื่นขึ้นมา  รู้ว่าตัวเองอยู่ในวงล้อมของกลุ่มยักษ์บริวารของพญากุมภัณฑ์ยักษ์ พระนางสุมณฑา  จึงได้แต่สวดมนต์ภาวนาร่ายมนต์คัมภีร์พระเวทย์ตามลัทธิพราหมณ์

ภาพที่ ๓ พระนางสุมณฑา

พระนางอ้อนวอนถึงเทพาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลช่วยเหลือ ให้ร่างกายของพระนางมีอาการร้อนเหมือนเปลวเพลิง กุมภัณฑ์ ยักษ์มีจิตใจยินดีด้วยความรัก จะพยายามเข้าไปแตะต้องร่างกายมิได้ ก็ได้แต่เฝ้าอยู่หน้าถ้ำกับบริวารยักษ์ และไปเก็บอาหาร ผลไม้มาคอยเฝ้าอุปัฏฐากพระนางได้บริโภค พอบริวารสนมกำนัลของพระนางตื่นขึ้นมาไม่เห็น

ภาพที่ ๔ พระยาสังข์สินชัย

พระนาง เห็นแต่รอยเท้ายักษ์ นางสนมกำนัลร้องเรียกหาพระนาง ค้นหาอย่างไรก็ไม่พบ จึงได้พากันกลับไปทูลพระยาขอมผู้เป็นบิดา เมืองเปงจานครราช พระยาขอมผู้เป็นบิดาจึงได้ให้ท้าวทั้ง ๖ ซึ่งเป็นบุตรภรรยาคนที่ ๒ (มเหสีรอง) ให้ติดตามค้นหาพระนางสุมณฑา พบแหล่งที่อยู่ไพร่พลของพญายักษ์ จึงได้ทำศึกรบเพื่อแย่งชิงเอาผู้เป็นอา (พระนางสุมณฑา) แต่ไม่สามารถ ที่จะรบเอาชนะกับพญายักษ์และบริวารได้ จึงย้อนกลับไปกราบทูลพระยาขอมทรงทราบ พระยาขอมผู้เป็นบิดาจึงได้ส่งท้าวทั้ง ๓ ที่เป็นบุตรของภรรยาคนแรก (มเหสีหลวง) คือ พระศรีโหร์ พระสังข์ทอง และพระสินชัย ให้มาติดตามเอา

ภาพที่ ๕ พญากุมภัณฑ์

ภาพที่ ๖ หน้าผาถ้ำสุมณฑาที่แตกหักลงมา

พระนางสุมณฑา บุคคลทั้ง ๓ ซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์มีอำนาจ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้มีบุญมาเกิดจึงได้ติดตามมาพบพระนางสุมณฑาอยู่บริเวณถ้ำ  จึงได้ทำศึกรบต่อสู้ยิงลูกศรเพื่อแย่งชิงเอาพระนางสุมณฑาต่างฝ่ายก็ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ชนะผู้แพ้ จนเมื่อยล้า พญากุมภัณฑ์และบริวารนอนหลับ พระสังข์สินชัยจึงได้แอบเข้ามาชักชวนเอาพระนางสุมณฑากลับเมืองขอมคือเมืองเปงจานนครราช ล่องน้ำหลบหลีกหนีไปซึ่งลำน้ำนี้เกิดขึ้นเพราะไพร่พลของพระสังข์สินชัยและไพร่พลของยักษ์กุมภัณฑ์ได้ทำสงครามวิ่งรุกไล่ขึ้นลงระหว่างตีนเขาถึงยอดเขา จึงเป็นต้นกำเนิด “แม่น้ำสงคราม” คือ  สงครามระหว่างยักษ์กับมนุษย์ร่องรอยการสู้รบสันเขาจึงเป็นร่องน้ำ          

 

ภาพที่ ๗ ศาลาการเปรียญหลังเก่า

 

 ภาพที่ ๘ บริเวณแม่น้ำสงครามในอดีต

หน้าผาถ้ำสุมณฑาแตกหักลงมาแตกจึงเป็นหน้าผาตัดให้อนุชนรุ่นหลังได้มองเห็น  จนถึงยุคปัจจุบัน ร่องรอยที่เป็นต้นแม่น้ำสงครามเกิดขึ้นระหว่างการแย่งชิงเอาสมบัติ คือ บุคคลที่ตนรักและหวงแหน จึงเป็นต้นลำแม่น้ำ “สงคราม” ไหลลงมาจากภูผาลม และอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านผาสุก อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี และตรงบริเวณหน้าถ้ำสุมณฑา ห่างจากหน้าวัดสุมณฑาภาวนา ประมาณ ๓ กิโลเมตร  ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อ.ส่องดาว จ.สกลนคร เป็นแม่น้ำทอดลำแม่น้ำยาวลงไปจนถึงปากน้ำไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติไหลลงสู่ทะเล เป็นแม่น้ำอันใสสะอาดและบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดปิดกั้นและกีดขวางแม่น้ำสายนี้มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นแม่น้ำสายเดียวในประเทศไทย ยังมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องและมีความงดงามตามธรรมชาติ ประดุจเหมือนสาวพรหมจารีย์ ที่ยังไม่มีผู้ใดแตะต้องและเหยียบย่ำมาจนถึงปัจจุบันนี้ ไผว่าเมืองอีสานฮ้าง สิจูงแขนมันมาเบิ่งกกพร้าว กกหมากยังตั้งซอนลอน กกมอนยังซ้ายล้าย มันสิฮ้างได้จั่งได้

เก็บมาฝาก บรรยยากาศด้านหลังเขาค่ะ





ขอขอบคุณ
คณะศิษยาณุศิษย์  คณาจารย์และนักศึกษา
สาขาวิชาการจัดการการโรงแรมและการท่องเที่ยว
ปีการศึกษา ๒๕๕๓
คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี


และ
เพื่อนๆนายแบบนางแบบทั้งหมด