ไปเที่ยวหนองคายค่ะ

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณีไหลเรือไฟและงานกาชาดจังหวัดนครพนม ประจำปี 2555

งานประเพณีไหลเรือไฟ นครพนม ปี 2555

  ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม 
ณ บริเวณศาลากลางจังหวัด และริมเขื่อนถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

กิจกรรม
การแข่งขันเรือยาวในแม่น้ำโขง การแห่ปราสาทผึ้งและเรือไฟบก การประกวด/ลอยเรือไฟ ในแม่น้ำโขง ในคืนวันออกพรรษาการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง การรำบูชาองค์พระธาตุพนม ซึ่งเป็นการรวมตัวของชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ รวม 7 เผ่า ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครพนม แต่งกายด้วยเสื้อผ้าประจำเผ่า และร่ายรำด้วยท่วงท่าอัน งดงามเพื่อบูชาพระธาตุพนม

ความเป็นมาของประเพณีไหลเรือไฟ

ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานสืบทอดปฏิบัติในเทศกาลออกพรรษา ทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตามแม่น้ำลำคลอง จังหวัดที่มีการไหลเรือไฟปัจจุบันคือ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย และอุบลราชธานี โดยเฉพาะชาวนครพนมนั้นถือเป็นประเพณีสำคัญมาก เมื่อใกล้จะออกพรรษาชาวบ้านจะแบ่งกันเป็น “คุ้ม” โดยยึดถือเอกชื่อวัดใกล้บ้านเป็นหลักในการตั้งชื่อคุ้ม เช่น ถ้าอยุ่ใกล้วัดกลางก็จะเรียกกันว่า “ชาวคุ้มวัดกลาง” ชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ก็จะจัดให้มีการแข่งเรือ ส่วงเฮือ แห่ปราสาทผึ้ง และการไหลเรือไฟ
เรือไฟ หรือภาษาถิ่นเรียกกันว่า “เฮือไฟ” นี้เป็นเรือที่ทำด้วยต้นกล้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5 - 6 วา ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มผัดหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ซึ่งเรียกว่า การไหลเรือไฟ หรือ ปล่อยเฮือไฟ
มูลเหตุของการไหลเรือไฟนั้นมีคตินิยมเช่นเดียวกับการลอยกระทง แต่เป็นการลอยกระทงก่อนที่อื่น 1 เดือน โดยมีความเชื่อกันหลายประเด็นคือ
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาคุณพระแม่คงคา
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค
ชาวนครพนมได้ผสมผสานความเชื่อถือในการไหลเรือไฟไว้ด้วยสาเหตุหลายอย่าง และเนื่องจากลักษณะทำเลภูมิประเทศแม่น้ำโขงหน้าเมืองนครพนมนั้นสวยงามมาก โดยเฉพาะในวันเพ็ญ เดือน 11 ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศเย็นสบาย ชาวนครพนมจึงได้ร่วมใจกันฟื้นฟูประเพณีไหลเรือไฟให้เป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดเมื่อ พ.ศ. 2523 มีงานรวม 4 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 12 -15 ค่ำ แต่วันที่สำคัญที่สุดคือ วันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 มีการไหลเรือไฟลงสู่แม่น้ำโขงอย่างมโหฬาร


ประเพณีไหลเรือไฟ เรือประกอบไปด้วยไม้ไผ่ กับผ้าชุบน้ำมันยาง 

พิธีและกิจกรรม
ก่อนถึงวันงานไหลเรือไฟ ชาวคุ้มวัดจะช่วยกันประดิษฐ์ตกแต่งเรือไฟด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร จะประดิษฐ์เป็นรูปเจดีย์ วิหาร หงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อความสวยงามและเพื่อให้การจุดประทีปโคมไฟอยู่ได้ทนทาน เมื่อถึงวันงาน ภาคกลางวันก็จะมีขบวนแห่ไหลเรือไฟบก ซึ่งนำขึ้นไปวางบนพาหนะล้อเลื่อนต่าง ๆ แล้วเข้าขบวนแห่แหนทุกคุ้มวัดพร้อมกัน โดยมีการแสดงพื้นบ้านประกอบขบวนอย่างสนุกสนานสวยงาม ในขณะนั้นคณะกรรมการตัดสินก็จะให้คะแนนผู้ที่จัดส่งเรือไฟเข้าประกวดด้วย ขบวนแห่เรือไฟในภาคกลางคืน ก็จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น กราบพระ รับศีล ฟังเทศน์ และการกล่าวบูชารอยพระพุทธบาท ต่อจากนั้นจึงนำเรือไฟไปลงน้ำ และเริ่มจุดประทีปโคมไฟแล้วปล่อยให้ล่องไปตามแม่น้ำโขงลงไปทางทิศใต้
สอบถามรายละเอียด
สำนักงานจังหวัดนครพนม โทร. 0 4251 1287, 0 4251 1574
ททท.สำนักงานนครพนม โทร. 0 4251 3490 – 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น