ไปเที่ยวหนองคายค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติวัดหินหมากเป้ง






    






                  ..หลังจากนี้ไปราว พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ซึ่งเป็นวัดหินหมากเป้ง ในขณะนี้ เป็นป่าทึบรกมากกอปรด้วยเชื้อมาลาเรีย ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ร้ายต่างๆ มีเสือ หมี เป็นต้น แล้วก็เป็นท่าข้ามของเขาเหล่านั้นในระหว่าง ๒ ประเทศ   คือประเทศไทยและประเทศลาวอีกด้วย เพราะที่นี้ห่างจากคนสัญจรไปมา จะมีก็พวกพรานป่ามาหาดังยิงสัตว์กินเท่านั้น อนึ่ง คนแถบนี้รู้จักหินหมากเป้งในนามว่าผีดุมาก พระธุดงค์ที่ต้องการทดสอบความกล้าหาญของตนแล้ว จะต้องมาภาวนา ณ ที่นี้ ผู้ที่ได้มาทดสอบความกล้าหาญในที่นี้แล้ว ย่อมเชื่อตนเองได้ ทั้งเพื่อนพรหมจรรย์ก็ยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญเชื่อถือได้เนื่องจากเขาถือว่าผีดุนั่นเอง ต้นไม้ใหญ่ป่าดงจึงยังเหลือไว้ให้พวกเราได้เห็นดังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ นอกจากจะเป็นท่าข้ามของเหล่าสัตว์ร้ายดังกล่าวแล้วขังเป็นท่าข้ามของพวกมิจฉาชีพขนของหนีภาษีมีฝิ่นเถื่อน เป็นต้น  สัตว์พาหนะมีวัวควายเป็นต้น  ไม่ว่าฝั่งโน้นหรือฝั่งนี้ถ้ามันหาย สงสัยว่าคนขโมยแล้ว ทั้งเจ้าของและเจ้าหน้าที่จุดแรกจะต้องมาดักจับเอาตรงนี้เอง ถ้าไม่เจอะแล้วก็หมดหวังหินหมากเป้งเป็นชื่อหินสามก้อนซึ่งตั้งเรียงรายกันอยู่ริมฝั่งโขงที่หน้าวัดนี้เอง อันมีรูปลักษณะคล้ายลูกตุ้มเครื่องชั่งทองคำสมัยเก่าคนชั้นนี้เขาเรียกว่า เต็งหรือเป้งยอย คำว่าหมากเป้งเป็นภาษาภาคนี้   ผลไม้  หรือ อะไรก็ตาม   ถ้าเป็นลูกแล้วเขาเรียกหมากขึ้นหน้า   เช่น   หมากม่วง   หมากพร้าว    เป็นต้น มีคนเฒ่าคนเก่าเล่าปรัมปราสืบกันมาว่า หินหมากเป้งก้อนบน (เหนือน้ำ) เป็นของหลวงพระบาง ก้อนกลางเป็นของบางกอก  ก้อนใต้เป็นของเวียงจันทร์  ต่อไปในอนาคตข้างหน้ากษัตริย์ทั้งสามนครจะมาสร้างให้เจริญ คำนี้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พยากรณ์ไว้ก็ได้บอก เป็นแต่เล่าสืบๆ กันมาเท่านั้น แต่มีเค้าน่าจะมีผู้มีญาณพยากรณ์ไว้แน่ เพราะสถานที่นี้เป็นวัตถุโบราณอันส่อแสดงว่าคงจะเป็นสถานที่สำคัญสักอย่างหนึ่ง ดังที่ปรากฏอยู่ คือ  ขุดคูเป็นรูปวงเดือนแรมหันข้างแหว่งลงไปทางแม่น้ำโขง ถ้าดูที่ขุดเป็นปีกกาออกไปสองข้างแล้ว ทำให้เข้าใจว่าเป็นสนามเพลาะ แต่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ณ ที่ใด ๆ และไม่เคยได้ยินนักโบราณคดีพูดถึงเลยเรื่องสามกษัตริย์จะมาสร้างหินหมากเป้งให้เจริญู  ผู้เขียนเมื่อยังเด็กอยู่ได้ฟังแล้วยิ้มในใจไม่ยักเชื่อเลย นึกว่าป่าดงดิบ แท้ ๆ ผีดุจะตายแล้วใครจะมาสร้าง สร้างแล้วใครจะมาอยู่เล่า แล้วเรื่องนั้นมันก็ลืมเลือนหายไปนานจนไม่มีใครกล่าวถึงอีกแล้ว เพราะเห็นว่าไร้สาระแล้วจู่ๆผู้เขียนซึ่งไม่เชื่อคำพยากรณ์นั้นเองได้มาอยู่และมาสร้างเสียเอง จึงระลึกขึ้นมาได้ว่าอ๋อ ความจริงมันหนีความจริงไม่พ้น ถึงใครจะไม่พูดถึงมันก็ตาม เมื่อถึงเวลาของมันแล้วความจริงมันจะปรากฏขึ้นมาเอง
....พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอาจารย์หล้า  ได้มาจำพรรษา ณ ที่นี้เป็งองค์แรก แต่ท่านก็มิได้สร้างเป็นวัด ทำเป็นกระต๊อบเล็ กๆ อยู่อย่างพระธุดงค์ธรรมดา ๆ ท่านองค์นี้เป็นลูกคนบ้านห้วยหัดนี้เอง ท่านเคยมีครอบครัว  ได้ลูกชายคนหนึ่งแล้ว  ภรรยาท่านตายท่านจึงได้ออกบวช   อายุของท่านราว  ๔๐  ปี โดย เจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์   เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชเวที เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านไม่รู้หนังสือ เมื่อมาภาวนากัมมัฏฐาน ตัวหนังสือมาปรากฏในภาวนาของท่าน ท่านเป็นคนขยันหมั่นเพียรมาก  สนใจในกิจการทั่วไป เมื่อตัวหนังสือมาปรากฎในภาวนาของท่านเป็นที่อัศจรรย์ท่านยิ่งสนใจมากท่านพยายามประสมและอ่านผิดบ้างถูกบ้างทีแรก นานเข้าจนอ่านหนังสือที่มีเนื้อความเป็นธรรมได้ นอกนั้นอ่านไม่ได้ ผลที่สุดด้วยความพยายามของท่านอ่านหนังสือทั่วๆ ไปได้หมด เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย  แต่ท่านพระอาจารย์หล้าได้เป็นไปแล้ว  ตอนหลัง ๆ ท่านเป็นเจ้าตำราสั่งให้เขาซื้อหนังสือใหญ่ ๆ  เช่น   หนังสือพระวิสุทธิมัคค์    ปุพพสิกขา มหาขันธกวินัย   มาไว้เป็นสมบัติของท่านเลย
ท่านชอบเที่ยววิเวกองค์เดียวอยู่ตามแถบแถวภูพานนี้โดยมากชาวบ้านแถวที่ท่านเที่ยวไปยอมเคารพนับถือท่านมาก ถ้าบ้านใดเจ็บไข้ได้ป่วยโดยเขาถือว่าผีมาอาละวาด เขาจะต้องไปนิมนต์ให้ท่านไปขับผีให้ ความจริงมิใช่ท่านไปขับผี แต่ท่านไปโปรดเขาพร้อมทั้งชาวบ้านด้วย เมื่อท่านไปถึงทีแรก ท่านจะต้องหาที่พักซึ่งเขาถือว่าเป็นที่อยู่ของผี แล้วท่านจะต้องนั่งกำหนดภายในให้รู้ว่า ผีตัวนี้มีชื่อว่าอย่างไรทำไมจึงต้องมาอยู่ ณ ที่นี้ และได้ทำให้ชาวบ้านเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะเหตุใดเมื่อท่านทราบแล้วท่านจะต้องกำหนดหาบทภาวนาเพื่อให้ผีตนนั้นมีจิตอ่อนน้อมยอมเมตตาเป็นมิตรกับชาวบ้านเหล่านั้นแล้วท่านจะเรียกชาวบ้านเหล่านั้นมาสอนให้เขาตั้งมั่นอยู่ในคุณ พระรัตนตรัย  ต้องไปก็ให้มีการปฏิบัติทำวัตรไหว้พระเช้าเย็นเป็นประจำอย่าได้ขาด แล้วตอนท้ายก็สอนให้เขาภาวนาบทที่ท่านเลือกไว้นั้นนอกจากสอนให้เขาเหล่านั้นงดเว้นจากการสาปแช่ง ด่า และพูดคำหยาบคายต่าง ๆ ห้ามลักฉ้อโกงขโมยของกันและกันให้เว้นจากมิจฉาจาร แลให้งดจากการดื่มสุรา และยังมิให้รับประทานลาบเนื้อดิบอีกด้วยเมื่อท่านไปสอนที่ไหนได้ผลเป็นที่อัศจรรย์ทุกแห่งไป  แม้ที่เป็นหนอง  หรือเป็นน้ำซับ ทำเลดี ๆ ซึ่งเขาถือว่าผีดุ เมื่อปฏิบัติตามท่านสอนแล้วเขาไปจับจองเอาที่เหล่านั้นมาเป็นกรรมสิทธิ์ทำมาหากินจนตั้งตัวได้ก็มากราย ที่อธิบายมานี้เพื่อให้เห็นอัจฉริยนิสัยของท่าน ซึ่งไม่น่าจะเป็นแต่มันก็เป็นไปแล้วท่านเพิ่งมามรณภาพที่บ้านนาเก็น เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๐ นี้เอง อายุของท่านได้ ๘๒ ปี พรรษา  ๔๒ การมรณภาพของท่านก็พิสดาร คือท่านป่วยมีอาการเล็กน้อย เย็นวันนั้นท่านออกเดินไปตามริมชายวัด เห็นต้นไม้แดงตายยืนอยู่ต้นหนึ่ง    ท่านบอกว่าฉันตายแล้วให้เอาไม้ต้นนี้นะเผาฉัน   แล้วก็อย่าเอาไว้ล่วงวันล่วงคืนด้วย ตกกลางคืนมาราว ๒ ทุ่มท่านเริ่มจับไข้ อาการไข้เริ่มทวีขึ้นโดยลำดับ ตีหนึ่งเลยมรณภาพ บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาสก็ทำตามท่านสั่งทุกอย่าง ที่นำเอาประวัติของท่านพระอาจารน์หล้ามาเล่าโดยย่อนี้ ก็เพื่อผู้สนใจจะได้นำมาเป็นคติ    และท่านเป็นคนแรกที่เริ่มสร้างวัดนี้   ต่อจากนี้ก็มี    พระเส็ง พระคำจันทร์  พระอุทัย และพระคำพันเป็นคนสุดท้าย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗   ข้าพเจ้าได้จำพรรษาที่ถ้ำขาม   ออกพรรษาแล้ว      ได้วิเวกมาพักอยู่ด้วย พระคำพัน เห็นว่าที่นี้วิเวกดีพร้อมด้วยดินฟ้าอากาศ  รู้สึกว่าได้รับความสบายดี  จึงได้จำพรรษาอยู่ด้วยพระคำพัน บรรดาศิษยานุศิษย์เมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้ามาอยู่ ณ  ที่นี้ ต่างก็พากันลงเรือมาเยี่ยม เพราะเวลานั้นทางรถยังไม่มี เมื่อพากันมาเห็นสถานที่เป็นที่สัปปายะ อากาศก็ดี วิเวกน่าอยู่ วิวก็สวยงามแต่เสนาสนะที่อยู่อาศัยยังไม่น่าอยู่     ต่างก็พากันหาทุนมาช่วยบูรณก่อสร้าง  จนสำเร็จเป็นวัดที่ถาวร ดังที่ปรากฏแก่สายตาของท่านทั้งหลายอยู่  ณ  บัดนี้แล้ว
.....วัดหินหมากเป้งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  ณ  วันที่   ๒๖  มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๑๕   โดยเจ้าพระคณะสมเด็จพระมาหวีรวงศ์ เป็นประธานในสงฆ์ อุโบสถหลังนี้ทำหลังคาเป็นสองชั้น กว้าง  ๗  เมตร   ยาว  ๒๑  เมตร  สูงจากพื้นถึงเพดาน   ๙    เมตร มุงกระเบึ้องดินเผากาบกล้วยโดยคุณไขศร  ตันศิริ  กองช่างสุขาภิบาล กรมอนามัย เป็นผู้ออกแปลนอาจารย์เลื่อน  พุกะพงษ์   กรมศิลปกร   เป็นผู้ออกแบบลวดลายต่าง  ๆ  ตลอดถึงแนะนำการก่อสร้าง นายไพบูลย์  จัดทด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เฉพาะค่าแรงงานราคาสามแสนบาท น.ท.พนศักดิ์  รัตติธรรม เป็นผู้หาเครื่องอุปกรณ์ที่มีอยู่ทางกรุงเทพฯ นายแสงเพ็ชร จันทด เป็นเหรัญญิกและหาเครื่องอุปกรณ์ตลอดควบคุมการก่อสร้างโดยใกล้ชิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น